วันพุธที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2556

จิตวิทยาการเรียนการสอน



จิตวิทยา (อังกฤษ: psychology) คือ ศาสตร์ที่ว่าด้วยการศึกษาเกี่ยวกับจิตใจ (กระบวนการของจิต) , กระบวนความคิด, และพฤติกรรม ของมนุษย์ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เนื้อหาที่นักจิตวิทยาศึกษาเช่น การรับรู้ (กระบวนการรับข้อมูลของมนุษย์) , อารมณ์, บุคลิกภาพ, พฤติกรรม, และรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล จิตวิทยายังมีความหมายรวมไปถึงการประยุกต์ใช้ความรู้กับกิจกรรมในด้านต่าง ๆ ของมนุษย์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน (เช่นกิจกรรมที่เกิดขึ้นในครอบครัว, ระบบการศึกษา, การจ้างงานเป็นต้น) และยังรวมถึงการใช้ความรู้ทางจิตวิทยาสำหรับการรักษาปัญหาสุขภาพจิต นักจิตวิทยามีความพยายามที่จะศึกษาทำความเข้าใจถึงหน้าที่หรือจุดประสงค์ต่าง ๆ ของพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากตัวบุคคลและพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในสังคม ขณะเดียวกันก็ทำการศึกษาขั้นตอนของระบบประสาทซึ่งมีผลต่อการควบคุมและแสดงออกของพฤติกรรม
จิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่ศึกษาค้นคว้าเพื่อนำข้อมูลความรู้มาเสนอ อธิบาย และเพื่อควบคุมและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์และสัตว์ จิตวิทยามุ่งศึกษาด้านความสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการของร่างกายกับจิตใจ ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นระเบียบแบบแผน เพราะร่างกายและจิตใจมักมีการแสดงออกร่วมกัน อีกทั้งยังแสดงออกในแนวทางที่สามารถทำนายได้

นักจิตวิทยาได้แบ่งความคิดเห็นเกี่ยวกับการศึกษาทางจิตวิทยาออกเป็น 3 ฝ่าย ได้แก่ กลุ่มแรกเห็นว่า การเลือกปัญหานั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เฉพาะหน้าของนักจิตวิทยา กลุ่มที่สองนั้นกลับเห็นว่า การเลือกปัญหาและการตั้งคำถามควรจะเป็นไปตามทฤษฎี และกลุ่มหลังเห็นว่าความอยากรู้อยากเห็นที่เกิดขึ้นเอง เป็นแรงจูงใจที่ดีที่สุดสำหรับการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ แต่เมื่อเรามองโดยรวมแล้ว จะเห็นว่าทั้งความอยากรู้อยากเห็นและทฤษฎี ต่างก็มีส่วนช่วยในการสังเกต อธิบาย และตีความข้อเท็จจริงต่าง ๆ เพราะทฤษฎีนั้นมีบทบาทที่ช่วยให้เราเข้าใจสิ่งที่สังเกต และชี้ให้เห็นคำถามใหม่ ๆ อีกทั้งยังชี้ให้เห็นความเป็นไปได้ของข้อมูลต่าง ๆ ดังนั้นทฤษฎีจึงมีประโยชน์และมีบทบาทเป็นที่ยอมรับทั่วไปและทั่วโลกก็ต่างกันยอรับ




จิตวิทยาประกอบด้วยโครงสร้าง 3 ส่วนใหญ่ ๆ คือ
 1.ลักษณะเนื้อหาวิชา แบ่งเป็นเรื่องต่าง ๆ ได้แก่ พัฒนาการของมนุษย์, พันธุกรรม, ระบบการตอบสนอง, การรับรู้, การรู้สึก, แรงจูงใจ, อารมณ์, ภาษา การคิด และการแก้ปัญหา, เชาวน์ปัญญาและการทดสอบเชาวน์ปัญญา, บุคลิกภาพแบบต่าง ๆ และการประเมินบุคลิกภาพ, รูปแบบต่างๆของพยาธิสภาพทางพฤติกรรม, จิตบำบัด, และจิตวิทยาชุมชน
 2.เป้าหมายของจิตวิทยา เป้าหมายของการศึกษาได้มาจากวิธีการที่แตกต่างกัน 3 ประเภท ได้แก่
การวิจัยบริสุทธิ์หรือการวิจัยพื้นฐาน มาจากการค้นคว้าด้วยใจรัก ค้นหาหลักการของพฤติกรรมทั้งของมนุษย์และสัตว์ โดย ไม่ได้คำนึงว่าจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสังคมได้หรือไม่ ผู้วิจัยต้องเป็นผู้มีระเบียบแบบแผน มีจรรยาบรรณของนักวิจัย มีจริยธรรมและความเป็นกลางทางสังคม
 1.การวิจัยประยุกต์ ให้ความสนใจในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ผลจากการวิจัยในปัญหานี้สามารถ นำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้ การวิจัยดังกล่าวต้องได้รับการวางแผนดำเนินการ ควบคุมวิธีการด้วยความระมัดระวัง การวิจัย บริสุทธิ์ก่อให้เกิดการวิจัยประยุกต์อย่างมีแบบแผน
 2.การประยุกต์ใช้ เป็นการประยุกต์คำตอบที่ได้ ไปใช้ในสถานการณ์จริงๆ ในโลกซึ่งไม่มีการควบคุม สภาวะใดๆ นักจิตวิทยากลุ่มที่มีการประยุกต์ใช้มากที่สุด คือ นักจิตวิทยาคลินิก รองลงมาคือ นักจิตวิทยาการศึกษา
 3.สถานที่ดำเนินงานทางจิตวิทยา นักจิตวิทยาสาขาต่างๆทำงานในสถานที่แตกต่างกัน บางสาขาทำวิจัยและสอนในมหาวิทยาลัยและวิทยาลัย บาง สาขาทำงานในคลินิกและโรงพยาบาล, ศูนย์บริการให้คำแนะนำปรึกษาต่างๆในโรงเรียน, บริษัทหรือโรงงานอุตสาหกรรม, ศูนย์สุขภาพจิต ศูนย์ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ศูนย์พักฟื้นคนไข้ที่เพิ่งถูกส่งออกจากโรงพยาบาล ศูนย์บริการประชาชน เป็นต้น





ประวัติความเป็นมาของจิตวิทยา

จิตวิทยาได้เริ่มขึ้นโดยนักปราชญ์ชาวกรีก ชื่อ เพลโต และอริสโตเติล เพลโตเชื่อว่าการคิดและการใช้เหตุผลเท่านั้น ที่ทำให้คนเกิดความเข้าใจในสิ่งที่เขาสามารถจะเข้าใจได้ โดยไม่สนใจวิธีการสังเกตหรือการทดลองใด ๆ แต่อริสโตเติลกลับเป็นนักสังเกตสิ่งรอบตัว เขาสนใจสิ่งภายนอกที่มองเห็นได้ การเข้าใจปรากฏการณ์ตามธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับคนต้องเริ่มด้วยการสังเกตอย่างมีระบบ

จิตวิทยาในประเทศไทย

หลายคนเชื่อว่าจิตวิทยาเกิดขึ้นในโลกเมื่อ 2,500 กว่าปีมาแล้ว นั่นคือ จิตวิทยาทางพระพุทธศาสนา นั่นเอง สำหรับในประเทศไทยนั้น เพิ่งมีหลักฐานปรากฏว่ามีการสอนวิชาจิตวิทยาในโรงเรียนฝึกหัดครูปฐม ในช่วงเวลาก่อน พ.ศ. 2473 เล็กน้อย และในปี พ.ศ. 2473 ก็มีการสอนจิตวิทยาเป็นวิชาหนึ่งใน 5 วิชา ของการสอนวิชาครุศาสตร์ในคณะอักษรศาสตร์และครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ความหมายของการสอน
การสอน เป็นงานหลักของครู ซึ่งปัจจุบันถือว่าครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง ที่บุคคลในวิชาชีพนี้ ต้องได้รับการศึกษาอบรมมาโดยเฉพาะเพื่อให้มีความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติหน้าที่ สามารถเลือกศึกษา อบรมมาโดยเฉพาะ เพื่อให้มีความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติหน้าที่ สามารถเลือกวิธีปฏิบัติงานที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้นักเรียนมีความรู้ ทักษะ และเจตคติ ดังที่ระบุไว้ในจุดประสงค์การสอน ครูต้องมีการฝึกฝนด้านการสอนอยู่เสมอเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ในการทำงานเช่นเดียวกับวิชาชีพชั้นสูงอื่นๆ และต้องมีมาตรฐานของวิชาชีพ การที่ครูสามารถปฏิบัติงานการสอนได้ดีขึ้นอยู่กับความสามารถในการผสมผสานศาสตร์ว่าด้วยการสอนกับศิลปะของการสอนเข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดประสิทธิผลของการสอนสูงสุด

จิตวิทยาการเรียนรู้วัยผู้ใหญ่
 กลุ่มเป้าหมายผู้เข้ารับการบริการและผู้เข้าร่วมกิจกรรมการศึกษานอกโรงเรียนส่วนใหญ่ เป็นผู้ใหญ่ ตลอดจนกระทั่งผู้เรียนที่เป็นผู้ใหญ่ ก็มีอยู่เป็นจำนวนมากด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องกับงานการศึกษานอกโรงเรียน จะต้องมีความรู้และความ เข้าใจในพัฒนาการและการเรียนรู้ของผู้ใหญ่

  ภารกิจเชิงพัฒนาการของผู้ใหญ่
 สิ่งที่จะช่วยบ่งชี้ถึงพัฒนาการมนุษย์ในวัยต่างๆ ได้อย่างดียิ่งคือ "ภารกิจเชิงพัฒนาการ" ซึ่งมีความหมายเกี่ยวกับภารกิจที่บุคคลทั่วๆ ไปควรจะปฏิบัติ หรือควรจะกระทำในแต่ละช่วงของระยะเวลาพัฒนาการ และถ้าหากบุคคลประสบความล้มเหลวหรือไม่สามารถประกอบภารกิจนั้นๆ ได้ อาจจะก่อให้เกิดปัญหาด้านพัฒนาการในแต่ละขั้นตอน
1.ภารกิจเชิงพัฒนาการในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น
 ผู้ใหญ่ในวัยอายุประมาณ 18 - 35 ปี มีภาระหน้าที่สำคัญๆ ดังต่อไปนี้
 - การเลือกหาคู่ครอง หรือเพื่อนสนิท
 - การเรียนรู้ที่จะอยู่อาศัยกับคู่ครอง สามี - ภรรยาได้ตลอดไป
 - เริ่มต้นการมีชีวิตครอบครัว
 - มีภาระหน้าที่ในการอบรมเลี้ยงดูเด็กๆ และลูกๆ
 - การแสวงหาที่พัก รวมทั้งการมีบ้านเป็นของคนเอง
 - การเริ่มต้นที่จะมีอาชีพเป็นที่แน่นอนและมั่นคง
 - มีความรับผิดชอบในฐานะการเป็นพลเมืองดี
 - การเสาะแสวงหากลุ่มทางสังคม ที่เหมาะสมกับอุปนิสัยของตนเอง เช่น การเป็นสมาชิกสมาคมหรือสโมสรต่างๆ

2.ภารกิจเชิงพัฒนาการในวัยผู้ใหญ่ตอนกลาง
 ช่วงอายุระหว่าง 35 - 60 ปี มีภาระหน้าที่สำคัญๆ ดังนี้คือ
 - การได้รับความสำเร็จในฐานะการเป็นพลเมืองดี หรือการมีความรับผิดชอบด้านสังคม การได้รับชื่อเสียง
 - เริ่มมีหลักฐานที่มั่นคง และพยายามรักษาสถานภาพด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดีและเหมาะสมกับฐานะ
 - ให้ความช่วยเหลือแก่ลูก
 - หลาน ที่มักจะอยู่ในระยะวัยรุ่น และพยายามทำตัวเองให้เป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุข
 - มีการใช้เวลาว่างและมีกิจกรรมสันทนาการที่เหมาะสมกับวัย และความสนใจ
 - มีการยอมรับและการปรับตัวเอง ให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายของ ผู้ใหญ่ในวัยนี้
 - มีการปรับตัวให้เหมาะสมกับการเป็นผู้ใหญ่ที่มีบทบาทเป็นพ่อ - แม่ คือยอมรับสภาพความเป็นจริงของการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ภายในครอบครัว




 3.ภารกิจเชิงพัฒนาการในวัยชรา
คือผู้ที่มีอายุเกินกว่า 60 ปีขึ้นไป ควรจะมีบทบาทและภาระหน้าที่ดังต่อไปนี้
 - เรียนรู้ และปรับตัวเกี่ยวกับความเสื่อมโทรมทางด้านร่างกาย ความเข้มแข็งและสุขภาพร่างกายทั่วๆ ไป
 - มีการปรับตัวเองเกี่ยวกับการเกษียณอายุจากการทำงาน และเงินรายได้ที่ลดน้อยลงไปด้วย
 - มีการปรับตัวในด้านการเสียชีวิตคู่ครองที่อาจจะต้องเกิดขึ้น และตัวเองต้องเป็นหม้าย
 - มีบทบาท และมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน ซึ่งมีความสนใจใกล้เคียงกัน
- มีการพบปะ เพื่อการปรึกษาหารือกับคนในวัยเดียวกัน หรือทำกิจกรรมเพื่อสังคมร่วมกันบ้างเป็นครั้งคราว
- มีการกำหนดสถานที่อยู่อาศัย ในภาพที่ตนเองพอใจ โดยอาจจะอยู่อาศัยรวมกันลูกๆ หลานๆ เพื่อนฝูง หรือในหมู่บ้านคนชรา เป็นต้น

สรุป ...จิตวิทยาการสอน คือการเรียนรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับตัวผู้เรียนในด้านของการเรียนรู้ ซึ่งการเรียนรู้ไม่ใช่มีเพียงแต่วัยเด็กหรือวัยรุ่นเพียงอย่างเดียว อาจรวมถึงวัยผู้ใหญ่หรือวัยชรา ซึ่งในแต่ละช่วงวัยก็จะมีวิธีการเรียนการสอน หรือระบบระเบียบแบบแผนที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับความต้องการของตัวผู้เรียนเองด้วย ซึ่งผู้สอนจะต้องทำการสังเกตและหาข้อสรุปเป็นทฤษฎีเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้น และนำไปทดลองให้เป็นรูปธรรมต่อไป